วันอาทิตย์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2557




การคลังสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

         ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2367 - 2394) พระองค์ทรงสนพระทัยที่จะปรับปรุงเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากทางราชการมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงิน มากกว่าในแผ่นดินก่อนๆ ทรงพยายามหาวิธีเพิ่มรายได้แผ่นดินด้วยการให้ผูกขาดการเก็บภาษีอากร โดยอนุญาตให้เจ้าภาษี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีนในประเทศไทยเป็นผู้จัดเก็บภาษีอากรจากราษฎรโดยตรง ในแต่ละปีเจ้าภาษีจะเสนอรายได้สูงสุดในการจัดเก็บภาษีอากรแต่ละชนิดให้แก่รัฐบาล เมื่อได้รับอนุญาตจากรัฐบาลแล้ว เจ้าภาษีจัดแบ่งส่งเงินรายได้แก่รัฐบาลเป็นรายเดือน จนครบกำหนดที่ได้ประมูลไว้ เป็นการเริ่มระบบเจ้าภาษีนายอากรนับแต่นั้นมา

         ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2394 - 2411)  ประเทศไทยได้เปิดประตูการค้ากับประเทศตะวันตก นับตั้งแต่ได้มีการลงนามใน สนธิสัญญาบาวริง กับประเทศอังกฤษเมื่อปี พ.ศ. 2398 และกับประเทศอื่นๆ บทบัญญัติในสนธิสัญญาบาวริง มีผลให้ไทยต้องยกเลิกการค้าแบบผูกขาด โดยระบบพระคลังสินค้าอย่างเด็ดขาด เลิกล้มการเก็บภาษีเบิกร่อง หรือค่าปากเรือ มีการจัดตั้ง ศุลกสถาน (Customs House) หรือ โรงภาษี จัดเก็บภาษีขาเข้าในอัตรา "ร้อยชักสาม" และภาษีขาออกตามที่ระบุไว้ในท้ายสัญญา ระบบการศุลกากรแบบใหม่ก็นำมาใช้นับแต่ครั้งนั้น

         ภายหลังสนธิสัญญาบาวริง  การค้าขายระหว่างไทยกับต่างประเทศเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว พ่อค้าชาวต่างประเทศได้นำเงินเหรียญดอลล่าร์เม็กซิกันมาขอแลกเป็นเงินไทยมาก จนกระทั่งเงินบาทพดด้วงที่มีอยู่ไม่พอใช้หมุนเวียน ดังนั้นใน พ.ศ. 2403 รัชกาลที่ 4 จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง โรงกษาปณ์สิทธิการ ขึ้นในพระบรมมหาราชวัง ผลิตเงินเหรียญด้วยเครื่องจักร มีทั้งที่ทำด้วย ทองคำ เงิน ดีบุก และทองแดงในราคาต่างกัน


การคลังสมัยรัชกาลที่ ๕
รัชกาลที่ ๕

         มื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า การบริหารการคลังของประเทศประสบปัญหาเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีอากรและการจัดระบบการคลังหลายประการ
     ประการแรก การจัดเก็บภาษีอากรไม่มีการจัดระบบให้ถูกต้อง การเงินของประเทศได้ถูกแบ่งไปอยู่ที่เจ้านายและขุนนางผู้มีอำนาจ โดยอำนาจการจัดเก็บภาษีอากรกระจายไปอยู่ตามกรมต่างๆ เช่น กรมพระคลังมหาสมบัติ กรมพระกลาโหม กรมมหาดไทย กรมนา และกรมพระคลังสินค้า เป็นต้น แล้วแต่เจ้ากรมผู้บังคับบัญชากรมนั้นๆ จะจัดเก็บตามประสงค์ ไม่เป็นระเบียบแบบแผนอันเดียวกันที่จะพึงปฏิบัติเยี่ยงอารยประเทศ นอกจากนี้ภาษีอากรที่กรมต่างๆ จัดเก็บได้  ซึ่งจะต้องมอบเงินส่วนหนึ่งให้กรมพระคลังมหาสมบัติ ก็ปรากฏว่าให้บ้างไม่ให้บ้าง กรมพระคลังมหาสมบัติเป็นเพียงแต่เจ้าพนักงานรับเงินหลวง ไม่มีอำนาจบังคับหรือเรียกร้องให้กรมต่างๆ ปฏิบัติตามแต่อย่างใดเพราะไม่มีระเบียบบัญญัติกฎหมายวางไว้ให้ทำเช่นนั้นได้ ทำให้เงินผลประโยชน์ของแผ่นดินรั่วไหลไปทางอื่นเสียเป็นอันมาก
     ประการที่สอง ระบบเจ้าภาษีนายอากรไม่มีประสิทธิภาพ ตามที่รัฐบาลได้ให้เจ้าภาษีนายอากรรับผูกขาดการเก็บภาษีอากรชนิดต่างๆ และนำเงินส่งรัฐเพื่อเป็นรายได้นำมาทำนุบำรุงประเทศนั้น ปรากฏว่าในระยะแรกเจ้าภาษีนายอากรก็นำเงินส่งราชการเต็มตามจำนวนและตรงเวลา แต่เมื่อนานวันไปเจ้าภาษีนายอากรมักบิดพลิ้วผัดผ่อน ไม่ส่งเงินตามกำหนดและส่งให้ไม่ครบตามจำนวน อีกทั้งยังทำการรีดนาทาเร้นราษฎรให้ได้รับความเดือดร้อน เกิดระบบการยักยอก ฉ้อโกงเงินหลวงของเจ้าหน้าที่และเจ้าภาษีนายอากร จำนวนเงินที่รัฐควรจะได้ก็ไม่ครบตามจำนวนที่พึงได้ เป็นผลกระทบต่อเงินรายจ่ายของแผ่นดิน จนเกือบจะไม่พอใช้ในกิจการต่างๆ
     ประการที่สาม การจัดทำบัญชีของกรมพระคลังมหาสมบัติไม่เรียบร้อย นับตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การทำบัญชีรับและจ่ายเงินของกรมพระคลังมหาสมบัติ มิได้มีปรากฏไว้เป็นแบบอย่างและเป็นหลักฐานให้ตรวจสอบได้ จึงไม่ทราบแน่นอนว่าในแต่ละปี รัฐได้รับเงินเท่าไร และจ่ายราชการไปเท่าไร มีกำไรหรือขาดทุน เมื่อพระคลังมหาสมบัติแต่ละคนดับสูญไป บัญชีนั้นก็สูญหายไปหมด ไม่มีการจัดแจงเรียบเรียงบัญชีไว้สำหรับแผ่นดิน เมื่อสิ้นปีก็มิได้งบบัญชีขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายให้ทรงทราบเป็นบัญชีข้างที่ไว้สำหรับทรงตรวจดูตัวเงินแผ่นดินว่ามีเงินมากน้อยเพียงใด
     นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2411 เป็นต้นมา เงินผลประโยชน์รายได้ของแผ่นดินลดลงไปมาก ในขณะที่การใช้จ่ายในกรมพระคลังมหาสมบัติเพิ่มรายการขึ้นทุกปี จนในที่สุดรายได้ไม่พอจ่ายต้องค้างชำระ รัฐบาลต้องเป็นหนี้สินอยู่เป็นอันมาก   ดังนั้นเมื่อได้เสด็จขึ้นว่าราชการแผ่นดินโดยเด็ดขาด  จึงทรงเริ่มทำการปฏิรูปการคลังโดยโปรดเกล้าฯ ให้ ตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ขึ้นเมื่อปี  พ.ศ. 2416 ในพระบรมมหาราชวัง ให้เป็นที่ทำการของเจ้าพนักงานพระคลังมหาสมบัติ และให้มีพนักงานบัญชีกลางสำหรับรวบรวมบัญชีเงินผลประโยชน์แผ่นดินและตรวจตราการเก็บภาษีอากรซึ่งกระทรวงต่างๆ เป็นเจ้าหน้าที่เก็บนั้น ให้รู้ว่าเป็นจำนวนเงินเท่าใด และเร่งเรียกเงินของแผ่นดินในด้านภาษีอากรให้ส่งเข้าพระคลังมหาสมบัติตามกำหนด พร้อมกันนั้นได้ทรงตราพระราชบัญญัติสำหรับหอรัษฎากรพิพัฒน์ จุลศักราช 1235 หรือ พ.ศ. 2416
     จากพระราชบัญญัติสำหรับหอรัษฎากรพิพัฒน์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานอำนาจแก่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ทรงจัดให้มีเจ้าพนักงานบัญชีกลางรวบรวมพระราชทรัพย์ ซึ่งขึ้นในท้องพระคลังทั้งปวง ตั้งสำนักงานอยู่ในหอรัษฎากรพิพัฒน์ในพระบรมมหาราชวัง ให้มีแบบธรรมเนียมที่เจ้าภาษีนายอากรต้องปฏิบัติในการรับประมูลผูกขาดจัดเก็บภาษีอากร ให้มีเจ้าจำนวนภาษีของพระคลังทั้งปวงมาทำงานในสำนักงานเป็นประจำ เพื่อตรวจตราเงินภาษีอากรที่เจ้าภาษีนายอากรนำส่งต่อพระคลังแต่ละแห่ง โดยครบถ้วนตามงวดที่กำหนดให้
     การกำหนดหน้าที่ของเจ้าพนักงานหอรัษฎากรพิพัฒน์ และระเบียบข้อบังคับให้เจ้าภาษีนายอากรปฏิบัติโดยเคร่งครัด เป็นการตัดผลประโยชน์ของเจ้าพนักงานทั้งปวง จึงกล่าวได้ว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงวางรากฐานระเบียบการปฏิบัติการภาษีอากรและการเงินของประเทศไว้เป็นครั้งแรก ทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มมากขึ้น
ภายในหอรัษฎากรพิพัฒน์
แหล่งอ้างอิง
http://www.chaoprayanews.com/2012/04/27/ขอเชิญชมความงดงามในงาน/
http://kbankcard.askkbank.com/TH/K-Lifestyle/Edutainment/What's%20on/Pages/August2013.aspx

โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
เสนอ อาจารย์ประพิศ ฝาคำ
จัดทำโดย นายจักรรัฐ สุนทรรักษ์ ม.5/936 เลขที่19